top of page

ป่วยที่อังกฤษต้องทำยังไง ประกันจำเป็นรึเปล่า?

อัปเดตเมื่อ 14 มี.ค.

ป่วยที่อังกฤษต้องทำยังไง ประกันจำเป็นรึเปล่า?

ถ้าพูดถึงประเทศที่อากาศแปรปรวนบ่อยที่สุด ประเทศอังกฤษต้องติดหนึ่งในนั้นแน่ ๆ ! โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างลอนดอนที่เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ฝนตก ซึ่งเจ้าสภาพอากาศแบบนี้แหละที่ทำให้ป่วยได้ง่ายมาก ผู้คนที่นี่จึงต้องปรับตัวและรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  แถมการจะได้เจอคุณหมอที่อังกฤษนั้นก็ไม่ได้ง่ายเหมือนบ้านเราด้วยนะ ! แต่น้อง ๆ ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ เพราะวันนี้พี่ ๆ BACCOM ได้รวบรวมคำแนะนำสำหรับการรักษาพยาบาลที่อังกฤษไว้หลากหลายกรณี ใครแพลนจะมาเรียนต่อหรือทำงานที่อังกฤษ มาเตรียมความพร้อมไปด้วยกันได้เลยย ~!


ป่วยที่อังกฤษต้องทำยังไง

ขอบคุณภาพจาก bloomberg



วัฒนธรรมการรักษาพยาบาลที่อังกฤษแตกต่างกับที่ไทย


ก่อนที่เราจะไปแนะนำวิธีรับมือ เราต้องมารู้จักวัฒนธรรมการหาหมอของคนที่นี่กันก่อน ซึ่งก็มีความแตกต่างกับที่ไทยค่อนข้างเยอะ เพราะคนไทยเรานั้นถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจะค่อนข้างซีเรียสมากก เป็นอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็มักจะไปหาหมอกันก่อนเพื่อความสบายใจใช่มั้ยคะ


แต่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับกับสภาพอากาศที่แปรปรวน และจะไปหาหมอเฉพาะเวลาป่วยหนักจริง ๆ เท่านั้นค่ะ ! โดยถ้าเป็นการเจ็บป่วยทั่วไปไม่รุนแรงมาก คนที่นี่มักจะรักษาด้วยตนเองที่บ้านกันก่อนค่ะ 


เหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะโดยปกติแล้ว การรักษาพยาบาลที่อังกฤษ ถ้าคนไข้มีอาการป่วยไม่มาก คุณหมอจะเน้นให้กลับไปรักษาที่บ้านด้วยตัวเอง จะไม่ยอมให้คนไข้กินยาสักเท่าไหร่ ทำให้เป็นที่รู้กันว่า การไปหาหมอที่นี่นั้นบางทีอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย TT บวกกับพื้นฐานอุปนิสัยของชาวยุโรปด้วย ที่เวลามีเหตุอะไรก็ตาม มักจะเน้นช่วยเหลือตัวเองกันก่อนเสมอ ซึ่งวัฒนธรรมนี้ก็ค่อนข้างจะแตกต่างกับคนไทยแบบเราอยู่พอสมควร :) 


 

แล้วถ้าป่วยขึ้นมาจะต้องทำยังไงดี ??


ขั้นแรกประเมินอาการตัวเองเบื้องต้นก่อน

เมื่อเรารู้สึกไม่สบายตัวคล้ายจะไม่สบาย อันดับแรกต้องสังเกตและประเมินอาการตัวเองก่อนว่า อาการเป็นยังไงบ้าง รู้สึกป่วยมากมั้ย เจ็บหรือปวดที่ใดบ้าง จากนั้นให้ลองทานยาตามอาการก่อนในเบื้องต้น และถ้าหากยาตัวไหนเราไม่มี แล้วไม่สะดวกออกไปซื้อเอง ตอนนี้ที่อังกฤษก็มีบริการ Delivery จัดส่งยาถึงที่พักด้วยนะ เช่น Click Health หรือจะใช้บริการ Delivery ของ Uber กับ Deliveroo  ก็สะดวกน้า น้อง ๆ สามารถดูข้อมูลแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ Application ที่แนะนำเมื่อคุณมาถึงอังกฤษ 


สุดท้ายถ้ารักษาเองแล้วไม่หายจริง ๆ หรือยังมีความกังวลอยู่ พี่ ๆ BACCOM แนะนำว่าให้รีบไปหาหมอ เพื่อเช็คให้ชัวร์ เพราะถ้าหากเราเป็นอะไรที่ร้ายแรงจะได้รีบรักษาค่ะ ^^


BACCOM Tips :

น้อง ๆ คนไหนมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่นี่ ก็แนะนำให้บอกใครสักคนเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินด้วย อย่างน้อยเพื่อให้คนอื่นได้รับรู้ว่าเราป่วยอยู่นะ มีอาการคร่าว ๆ ประมาณไหน เพราะถ้าจู่ ๆ เราเกิดอาการทรุดหรือเป็นหนักกว่าเดิม จะได้มีคนช่วยเหลือได้ทันท่วงทีค่ะ ^^


 
Checklist ยาสามัญประจำบ้านที่ควรพกไว้

ยาสามัญประจำบ้านเป็นอะไรที่สำคัญมากกก โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวควรจะเอามาให้พอน้า เพราะการซื้อยาในต่างประเทศบางตัวจำเป็นต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ และยาส่วนใหญ่จะราคาค่อนข้างสูง ถ้าเป็นไปได้ พี่ ๆ BACCOM ก็อยากแนะนำให้น้อง ๆ พกทั้งยาและชุดปฐมพยาบาลมาติดบ้านไว้  โดยน้อง ๆ สามารถดูลิสต์ยาสำคัญ ๆ ได้จากด้านล่างนี้เลยยย :D


Checklist ยาสามัญประจำบ้านที่ควรพกไว้

ขอบคุณภาพจาก kapook.com


  • ยาดม ยาหม่อง (แนะนำ ที่นี่หายากมากก)

  • ยาแก้แพ้ สำหรับคนแพ้อากาศและแพ้ฝุ่น

  • ยาแก้เมารถ

  • ยาแก้หวัด

  • ยาแก้ปวด ลดไข้

  • ยาแก้ไอสมุนไพร ยาอม

  • ยาแก้อักเสบ

  • ยาทาแผลในปาก

  • เกลือแร่

  • ยาแก้ท้องเสีย

  • ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือครีมทาคลายปวดเมื่อย

  • พลาสเตอร์ยา

  • เบตาดีน

  • ขี้ผึ้งกันแมลงกัดต่อย

  • ยากันยุง

  • ยาประจำตัวสำหรับผู้มีโรคประจำตัว **


น้อง ๆ สามารถเข้าไปดาวน์โหลด Checklist ของใช้หมวดยาและหมวดอื่น ๆ ที่ทางพี่ ๆ BACCOM ทำไว้ให้จากบทความนี้ได้เลยค่าา Checklist จัดกระเป๋า ไปเรียนต่ออังกฤษ เตรียมของตามนี้ไม่มีพลาดแน่นอน!


 

ประเมินอาการแล้ว คิดว่าต้องไปพบหมอด่วน ๆ !! 


        เมื่ออาการหนักมากจริง ๆ ทานยาตามอาการแล้วไม่หาย ก็ต้องไปหาหมอ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่พยาบาลนะคะ โดยจะแบ่งการติดต่อออกเป็น 4 กรณี คือ


1. หมอ General Practitioner (GP)

2. บริการ Urgent Care Centre หรือ walk-in Centres 

3. ติดต่อเบอร์ 111

4. ติดต่อเบอร์ 999


โดยทั้ง 4 กรณี จะแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ มีรายละเอียดตามนี้เลยยยย


 

1. หมอ General Practitioner (GP)


หมอ General Practitioner (GP)

ขอบคุณภาพจาก stewarthindley


หมอ GP ก็คือ คุณหมอรักษาโรคทั่วไปที่ทำงานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพอังกฤษ หรือ ที่รู้จักกันในนาม NHS โดยเมื่อน้อง ๆ เดินทางมาถึงประเทศอังกฤษแล้วจะต้องลงทะเบียน GP ที่ GP Surgery (คลินิก) ใกล้กับที่พัก หรือสถาบันการศึกษาที่เรียน ซึ่งเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมา เราจะได้เข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนที่มีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เป็นสิทธิ์ที่เราจะได้มาพร้อมตอนทำวีซ่า ถ้าให้เปรียบเทียบ GP ก็จะให้อารมณ์คล้าย ๆ กับสิทธิ์ประกันสังคม ขั้นตอนอาจไม่ได้รวดเร็วทันใจมาก ค่อนข้างใช้เวลา ประมาณโรงพยาบาลรัฐบ้านเรานั่นเอง !


เหมาะสำหรับ : ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทั่วไป ต้องการเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอ ความรวดเร็วของการได้เข้ารับการรักษาต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับสาขาที่เราไปใช้บริการด้วยน้า บางสาขาคนเยอะหน่อย การจะได้เจอคุณหมอแบบ In-person ก็จะยากนิดนึง หรือถ้าจะไปแบบ Walk-in ส่วนมากก็มักจะไม่ได้เข้าพบทันที ขอแนะนำว่าน้อง ๆ ควรนัดเอาไว้ล่วงหน้าประมาณ 1 อาทิตย์ แต่ถ้าเป็นสาขาที่คนน้อยก็อาจจะได้รับการบริการที่เร็วขึ้น น้อง ๆ อาจจะได้เข้ารับการปรึกษากับคุณหมอภายในวันนั้นได้เลย ดังนั้นน้อง ๆ ควรเลือกสาขาที่จะไปดี ๆ ด้วยน้าาาา :3  


การตรวจกับ GP น้อง ๆ ที่เป็นนักเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจและวินิจฉัยโรค แต่จะได้รับใบสั่งซื้อจากแพทย์มา เพื่อจะได้นำไปซื้อยาที่ร้านทั่วไปได้ เช่น Superdrug, Boots, Tesco Pharmacien เป็นต้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบติดต่อ GP อีกครั้งเพื่อให้ทำการประสานกับทางโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป


น้อง ๆ สามารถเข้าไปดูแนะนำวิธีการลงทะเบียน GP อย่างละเอียดได้ที่ การลงทะเบียน General Practitioner (GP)


 

2. บริการ Urgent Care Centre หรือ Walk-in Centres


บริการ Urgent Care Centre หรือ Walk-in Centres

ขอบคุณภาพจาก enherts-tr.nhs.uk 


Urgent Care Centre ศูนย์ดูแลฉุกเฉิน รักษาอาการต่าง ๆ ที่เร่งด่วนเกินกว่าจะรอการนัดหมายของ GP แต่ไม่ถึงขั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินที่แผนกฉุกเฉิน Accident and Emergency (A&E) ส่วนใหญ่เปิดให้บริการตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงดึก ไม่จำเป็นต้องทำการนัดหมาย สามารถ Walk-in ไปได้เลย และจะมีพยาบาลหรือ GP ที่มีประสบการณ์คอยดูแล แต่สุดท้ายแล้ว เราก็จะต้องได้รับการประเมินอาการก่อนอยู่ดี ว่าเรามีอาการเจ็บมากน้อยขนาดไหน และจำเป็นต้องได้รับการดูแลทันทีหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วเราไม่ได้เป็นอะไรมากก็อาจต้องรอคิว แล้วให้คนอื่นที่เร่งด่วนกว่าทำการรักษาก่อนค่ะ ><


เหมาะสำหรับ : ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุแบบไม่คาดคิด มีอาการบาดเจ็บที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ยังไม่ถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระดูกหัก ข้อเท้าแพลง หรือเกิดแผลที่ต้องได้รับการปฐมพยาบาลจากผู้เชี่ยวชาญ


 

3. ติดต่อเบอร์ 111


เบอร์ 111 เบอร์ฉุกเฉินของ National Health Service (NHS)

ขอบคุณภาพจาก britannica


เบอร์ 111 เป็นเบอร์ฉุกเฉินของ National Health Service (NHS) หรือองค์กรบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ คอยดูแลให้บริการรักษาพยาบาลแก่พลเมืองของสหราชอาณาจักรฟรีทุกคนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต โดยทางรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณและสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ถ้าให้เปรียบเทียบ NHS ก็จะให้อารมณ์คล้าย ๆ กับ 30 บาทรักษาทุกโรคของโรงพยาบาลรัฐที่ไทย เราสามารถโทรไปเบอร์นี้ได้ถ้าป่วยหนัก ต้องการคำปรึกษาด่วน ไม่อยากรอ GP ซึ่งก็จะมีหมอมารับฟังอาการและประเมินอาการให้คร่าว ๆ ถ้าประเมินแล้วเป็นเหตุเร่งด่วนมาก ๆ ก็จะมีการส่งต่อไปยังคลินิกหรือโรงพยาบาลต่อไป ที่สำคัญให้บริการฟรี และมีรถพยาบาลมารับสำหรับผู้ที่มาด้วยตัวเองไม่ไหวด้วยน้า 


เหมาะสำหรับ : ผู้ป่วยที่มีอาการไม่อันตรายถึงชีวิต อาการที่สามารถโทรไปเบอร์นี้ได้ เช่น ปวดท้องรุนแรง หรือปวดหน้าอกรุนแรง โดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ และที่พิเศษของ NHS เขาจะมีล่ามคอยช่วยเหลือสำหรับชาวต่างชาติที่ยังไม่แม่นภาษาอีกด้วย น้อง ๆ คนไหนที่เพิ่งมาอังกฤษแล้วกลัวว่าจะอธิบายอาการของตัวเองไม่ถูก ก็สบายใจได้เลย เพราะว่ามีล่ามคอยช่วยน้อง ๆ แน่นอน !


 

4. ติดต่อเบอร์ 999 


เบอร์ 999 เบอร์โทรแผนกฉุกเฉิน Accident and Emergency (A&E) ของอังกฤษ

ขอบคุณภาพจาก theguardian


เบอร์ 999 เป็นเบอร์โทรแผนกฉุกเฉิน Accident and Emergency (A&E) ของอังกฤษ ติดต่อได้ทั้งเรียกรถพยาบาล ตำรวจ หรือหน่วยดับเพลิง น้อง ๆ ควรโทรเฉพาะตอนที่มีเหตุฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้น ไม่ควรโทรสุ่มสี่สุ่มห้าหรือลองโทรเล่น ๆ จะเป็นการไปรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่นะคะ >< 


เหมาะสำหรับ : การโทรไปขอความช่วยเหลือเมื่อมีผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชน มีเลือดออกหนักมาก หรืออาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นต้น เมื่อโทรแล้วจะมีการประเมินอาการและส่งรถพยาบาลมารับทันที ซึ่งเมื่อไปถึง ทางเจ้าหน้าที่ก็จะมาเช็คดูอีกรอบว่าเราฉุกเฉินระดับไหนอีกครั้ง


BACCOM Tips :

แนะนำจากประสบการณ์ตรงของพี่ ๆ ถ้าหากน้องอาการหนักไม่ไหวจริง ๆ ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ให้แสดงท่าทีอาการออกมาเลยว่าเราไม่ไหว ไม่ต้องอดทนอดกลั้นเอาไว้นะคะ เพราะไม่งั้นเค้าจะคิดว่าเรายังพอทนไหว การรักษาก็จะช้าไปอีก และอาจจะเป็นหนักกว่าเดิมด้วยน้าา TT


 

นักเรียนต่างชาติจำเป็นต้องทำประกันมั้ย ?


สำหรับนักเรียนต่างชาติที่เดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษเป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือน จะได้รับสิทธิ์ประกันสุขภาพในการรักษาพยาบาลของ NHS เนื่องจากเราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสุขภาพ Immigration Health Surcharge (IHS) ตั้งแต่เริ่มแรกในขั้นตอนการขอวีซ่าออนไลน์ เพื่อเข้าสู่ระบบดูแลสุขภาพของ NHS โดยมีค่าใช้จ่ายคนละ 470 ปอนด์ต่อปี หรือประมาณ 21,000 - 42,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทวีซ่านักเรียนและระยะเวลาที่ไปเรียนด้วย 


สรุปได้ว่า หากน้องไปเรียนระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป ก็จะมีสิทธิ์ประกันสุขภาพ NHS ที่ได้มาพร้อมกับตอนทำวีซ่าอยู่แล้ว น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมเลยค่า :DD


 

ด้วยความเป็นห่วงจากพี่ ๆ BACCOM ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ อย่าป่วยกันดีกว่าเนาะ >< น้อง ๆ ควรตระเตรียมยาที่จำเป็นไปให้พร้อม พยายามรักษาสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอกันน้าาา ป่วยมาแล้วจะลำบากมาก ๆ เพราะระบบการรักษาของที่นี่ก็อาจจะช้าไม่ทันการอีกด้วยค่ะ : ))  เป็นยังไงกันบ้าง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวมาอังกฤษนะคะ และถ้าน้อง ๆ คนไหนที่ยังมีข้อสงสัย หรือต้องการให้ทางพี่ ๆ BACCOM ช่วยเหลือด้านที่พัก หรืออื่น ๆ ในอังกฤษสามารถติดต่อมาได้เลยน้า



🏡 เรื่องที่พักในอังกฤษให้ BACCOM ดูแล 🇬🇧 ครบทุกบริการที่ต้องการ ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย 💕


💚 LINE ID : @baccomuk

💙 Facebook : BACCOM UK

❤️ Youtube: BACCOM UK

📩 Email: hello@baccom.co.uk

☎️ UK Call : +44 7400 902 392

☎️ TH Call : +66 62 656 9422


🔗 ดูบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ 

bottom of page